วิทยาลัยเทคนิคระยอง MOU มุ่งพัฒนาคน ตอบรับนวัตกรรมและเทคโนโลยีปัจุบันสู่อนาคต
นายวิทวัต ปัญจมะวัต รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือจัดการศึกษาอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี เพื่อร่วมพัฒนาคนสมรรถนะสูง สร้างอาชีพที่ทันสมัย ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี โดยมี นายกิตติพงค์ อุตตมะเวทิน ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคระยอง กล่าวรายงาน ณ โดมอเนกประสงค์ วิทยาลัยเทคนิคระยอง
นายวิทวัต ปัญจมะวัต รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า การจัดการเรียนการสอนระบบทวิภาคี ในปีงบประมาณ 2568 จะมีการจัดทำฐานข้อมูลของสถานประกอบการให้เป็นเอกภาพมากขึ้น และเน้นให้นักเรียนนักศึกษามีคุณภาพ เตรียมความพร้อมก่อนฝึกงาน มีการทดสอบความรู้ความสามารถ และระหว่างฝึกงานจะเน้นให้ครูผู้สอนมีบทบาทในการนิเทศน์มากขึ้น ทั้งนี้ การเรียนในระบบทวิภาคี ทำให้นักเรียนนักศึกษามีรายได้ระหว่างเรียน ลดภาระของผู้ปกครอง และยังได้รับความรู้ความสามารถและประสบการณ์ตรง ในการฝึกงานกับสถานประกอบการจริงมากกว่าการเรียนในระบบปกติอีกด้วย การเรียนในระบบทวิภาคี เป็นการผลิตและพัฒนากำลังคนให้ตรงกับความต้องการ และยังสร้างความเชื่อมั่นให้สถานประกอบการว่าได้คนที่มีคุณภาพ มาตรฐาน ตรงกับความต้องการ ส่วนด้านผู้เรียนจะเกิดความมั่นใจได้ว่าจบแล้วมีงานทำแน่นอน มีสถานประกอบการรองรับ "การเรียนอาชีวะ สถานศึกษาจะคิดอ่านเพียงฝ่ายเดียวไม่ได้ จะต้องมีสถานประกอบการร่วมมาเป็นกลไกสำคัญในการจัดการศึกษาด้วย"
ด้านนายกิตติพงค์ อุตตมะเวทิน ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคระยอง กล่าวเพิ่มเติมว่า พิธีลงนามความร่วมมือจัดการศึกษาระบบทวิภาคีเพื่อร่วมพัฒนาคนสมรรถนะสูง สร้างอาชีพที่ทันสมัย ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี มีวัตถุประสงค์ เพื่อผลิตกำลังคนให้มีคุณภาพตรงตามความต้องการของผู้ประกอบการสามารถพัฒนากำลังคนให้มีสมรรถนะเท่าทันเทคโนโลยีปัจจุบันและเชื่อมโยงองค์ความรู้ เพื่อพัฒนาการทำงานให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในอนาคต
เน้นพัฒนาคุณภาพผู้เรียนทั้งด้านคุณธรรม จริยธรรมและคุณลักษณะที่พึงประสงค์ ด้านความรู้ ด้านทักษะและด้านความสามารถในการประยุกต์ใช้ตามมาตรฐานการเรียนรู้แต่ละระดับการศึกษา อีกทั้งเป็นการจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนการศึกษาแห่งชาติ กรอบคุณวุฒิอาชีวศึกษาแห่งชาติ และมาตรฐานคุณวุฒิอาชีวศึกษาแต่ละระดับตลอดจน ยึดโยงกับมาตรฐานอาชีพ เป็นการสร้างแรงจูงใจให้สถานประกอบการที่มีศักยภาพเข้าร่วมจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี ส่งเสริมการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดระหว่างสถานศึกษาและสถานประกอบการ เกิดความร่วมมือในการผลิตและพัฒนากำลังคนอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่การพัฒนาหลักสูตร กระบวนการจัดการเรียนการสอน การพัฒนาผู้สอนทั้งในสถานศึกษาและสถานประกอบการ และเป็นการสร้างแรงจูงใจใฝ่เรียนรู้ของผู้เรียน พัฒนากำลังคนให้มีทักษะที่จำเป็น รองรับความต้องการกำลังคนในการพัฒนาประเทศ การจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี จึงเป็นรูปแบบการจัดการศึกษาที่กำหนดสมรรถนะของผู้สำเร็จการศึกษาจากความต้องการของสถานประกอบการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐอย่างแท้จริง
โดยในวันนี้ มีสถานประกอบการเข้าร่วม เป็นสักขีพยานจำนวน 20 แห่ง องค์กร และสถานประกอบการเข้ารับมอบโล่ในฐานะเป็นผู้มีอุปการคุณในการอุทิศตนเพื่อการพัฒนาการศึกษา จำนวน 76 แห่ง ผู้เข้าร่วมลงนามประเภทที่ 1 สถานประกอบการร่วมจัดการศึกษาอาชีวศึกษาและถ่ายทอดเทคโนโลยี และสถาบันอุดมศึกษาจำนวน 6 แห่ง ผู้เข้าร่วมลงนามประเภทที่ 2 สถานประกอบการร่วมจัดการศึกษาระบบทวิภาคีจำนวน 47 แห่ง ผู้เข้าร่วมลงนามประเภทที่ 3 หน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชน จำนวน 32 แห่ง ผู้เข้าร่วมลงนาม ประเภทที่ 4 สถานศึกษาสังกัด สพฐ. สกร. และ อปท. จำนวน 33 แห่ง หน่วยงานที่ร่วมจัดนิทรรศการ จำนวน 6 แห่ง
ความคิดเห็น