วช. มุ่งเป้าใช้งานวิจัยและนวัตกรรม รุกแผนลดอุบัติเหตุทางถนน
ความปลอดภัยทางท้องถนน นับเป็นวาระสำคัญของประเทศ ที่ต้องมีการตั้งเป้าหมาย และบูรณาการการทำงานของทุกหน่วยงาน เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับประชาชน สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว จึงร่วมกับสมาคมวิศวกรรมชีวการแพทย์ไทย จัดการประชุมเผยแพร่ผลการดำเนินงานโครงการการวิจัยเชิงปฏิบัติการโดยบูรณาการทุกภาคส่วน เพื่อลดอุบัติเหตุและการเสียชีวิตให้สอดคล้องกับเป้าหมายแผนแม่บทฉบับที่ 5 ในวันที่ 22 มีนาคม 2567 โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีเปิดพร้อมให้นโยบายการผลักดันงานวิจัยเพื่อความปลอดภัยทางถนน และนายแพทย์ชาญวิทย์ ทระเทพ หัวหน้าโครงการวิจัยฯ กล่าวรายงาน ซึ่งการประชุมในครั้งนี้ นางสาวสตตกมล เกียรติพานิช ผู้อำนวยการกองบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรม 2 ได้รับมอบหมายให้เข้าร่วมการประชุม ณ Grand Richmond Stylish Convention Hotel จังหวัดนนทบุรี
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ในฐานะหน่วยงานบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อสร้างความปลอดภัยทางถนน วช. จึงได้สนับสนุนทุนวิจัยให้กับแผนงานวิจัยและนวัตกรรมด้านความปลอดภัยทางถนน ซึ่งมี นายแพทย์ชาญวิทย์ ทระเทพ หัวหน้าโครงการวิจัย โดยจุดมุ่งหมายสำคัญของแผนงานความปลอดภัยทางถนนคือ ต้องเกิดการขับเคลื่อนผลงานวิจัยไปสู่การปฏิบัติจริง เกิดผลผลิตจากการดำเนินงานที่ต้องมีความสอดคล้องกับแนวทางการขับเคลื่อนความปลอดภัยทางถนนของประเทศ และก่อให้เกิดผลลัพธ์เรื่อง การลดอัตราการเสียชีวิตและสร้างความปลอดภัย รวมถึงการพัฒนาเครือข่ายและการมีส่วนร่วมของภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน ในการนำนวัตกรรมทางด้านความปลอดภัยทางถนนไปบูรณาการเพื่อลดการสูญเสียทางด้านเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดจากปัญหาอุบัติเหตุ โดย วช. มุ่งหวังให้ประเทศไทย สามารถป้องกัน ลดอุบัติเหตุ ลดการบาดเจ็บ และเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนให้ลดลงมากที่สุด โดยมีเป้าหมายในการลดการเสียชีวิตและการบาดเจ็บบนท้องถนนให้ลดลงได้มากที่สุดต่อไป
นายแพทย์ชาญวิทย์ ทระเทพ สมาคมวิศวกรรมชีวการแพทย์ไทย หัวหน้าโครงการวิจัยฯ กล่าวว่า จากเขตสุขภาพที่ 8 ร่วมกับสมาคมวิศวกรรมชีวการแพทย์ไทย ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยเรื่อง “การวิจัยเชิงปฏิบัติการโดยบูรณาการทุกภาคส่วน เพื่อลดอุบัติเหตุและการเสียชีวิตให้สอดคล้องกับเป้าหมายแผนแม่บทฉบับที่ 5” ประจำปีงบประมาณ 2566 โดยมีการบูรณาการทุกภาคส่วน ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2566 – มิถุนายน 2567 เพื่อลดอุบัติเหตุและการเสียชีวิต ที่ใช้ข้อมูลเป็นตัวขับเคลื่อนนโยบาย / มาตรการ ที่สอดคล้องกับบริบททั้ง 7 จังหวัด ในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 8 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ประกอบไปด้วย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย นครพนม เลย บึงกาฬ และสกลนคร ซึ่งการวิจัยในครั้งนี้ เป็นการบูรณาการข้อมูลจากระบบสารสนเทศ เพื่อพัฒนาข้อมูลส่วนขาดให้สามารถนำไปใช้ในการกำหนดและผลักดันนโยบาย / นำไปใช้ในการกำหนดยุทธศาสตร์ นโยบาย และมาตรการการดำเนินการ ตลอดจนติดตาม กำกับ โดยได้ดำเนินการพัฒนารูปแบบจำแนกความเสี่ยง ทั้งคน สิ่งแวดล้อม ถนน ยานพาหนะ และระบบส่งต่อทรัพยากรสุขภาพ เพื่อกำหนดกลุ่มเป้าหมาย และจัดลำดับความสำคัญ รวมทั้งดำเนินการเพื่อลดความเสี่ยงให้แต่ละพื้นที่ ตลอดจนพัฒนา ชุมชน โครงสร้างกฎหมาย ระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ระบบบริการสาธารณสุข โดยใช้กลไกการจัดการในระดับเขตและระดับพื้นที่ เพื่อให้เกิดความปลอดภัย ด้วยกระบวนการบูรณาการแบบมีส่วนร่วม
จากความร่วมมือดังกล่าว ก่อให้เกิดนวัตกรรมในการบูรณาการข้อมูลเวชระเบียนอิเลกทรอนิกส์จากโรงพยาบาลต่าง ๆ ทั้ง 931 แห่ง แบบ Realtime ร่วมกับข้อมูล ITEMS จากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน นวัตกรรมในการ Train Risk Predictive Machine Learning Model ด้วยข้อมูลจำนวนมาก นำไปจำแนกความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุของประชาชนทั้งเขต พร้อมมี Dashboard ที่สามารถแสดงอุบัติเหตุและความเสี่ยงต่าง ๆ ในแต่ละพื้นที่ แบบ Realtime Application ช่วยในการสอบสวนอุบัติเหตุแบบ One Stop นำไปสู่กลไกการจัดการอุบัติเหตุในระดับเขต จังหวัด และพื้นที่ ให้ใช้ข้อมูล ในการกำหนดยุทธศาสตร์ นโยบาย และดำเนินการได้สอดคล้องกับบริบทและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา
ความคิดเห็น