ว.เทคนิคระยอง เป็นเจ้าภาพ การประกวดสิ่งประดิษฐ์คนรุ่นใหม่
นายวิทวัต ปัญจมะวัต รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เป็นประธานพิธีเปิดงาน "สุดยอดนวัตกรรมอาชีวศึกษา การประกวดสิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่ ระดับภาค ภาคตะวันออกและกรุงเทพมหานคร ประจำปีการศึกษา 2566" โดยมี นายกิตติพงค์ อุตตมะเวทิน ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคระยอง จ่าสิบเอก สมพร ชูทอง ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคสมุทรปราการ
นายวีรยุทธ อนุจิตรอนันต์ รองประธานหอการค้าจังหวัดระยอง หน่วยงานภาครัฐและเอกชน คณะครูที่ปรึกษา นักเรียน นักศึกษา เจ้าของผลงานนวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ เข้าร่วมงาน ณ วิทยาลัยเทคนิค(วท.)ระยอง
นายวิทวัต กล่าวว่า กิจกรรมการประกวดสิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่ ระดับภาค ภาคตะวันออกและกรุงเทพมหานคร ถือว่าเป็นกิจกรรมที่มีคุณค่าสูงสุดในการเรียนอาชีวศึกษา ทำให้ผู้เรียนมีสมรรถนะ มีทักษะการเรียนรู้ที่ดีและแม่นยำขึ้น การทำนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ จะทำให้เกิดการบูรณาการ นำองค์ความรู้และทักษะไปใช้ประดิษฐ์ คิดค้นสร้างสรรค์ผลงานด้านนวัตกรรมให้มีมาตรฐาน
และสามารถนำไปใช้ได้จริงอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังเป็นการศึกษาทางเลือก ที่จะสร้างอาชีพ สร้างรายได้และเป็นผู้ประกอบการในอนาคต สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ในการขับเคลื่อนพัฒนาคุณภาพการจัดการอาชีวศึกษา มุ่งเน้นผลิตและพัฒนากำลังคนให้มีสมรรถนะสูงเพื่อการพัฒนาประเทศ ส่งผลให้ผู้เรียนมีความสุข มีความรู้ มีอาชีพ พัฒนาประเทศให้มั่นคงด้วยการอาชีวศึกษา จึงสมควรสนับสนุนการจัดงานกิจกรรมนี้ให้มีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ด้านนายกิตติพงค์ อุตตมะเวทิน ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคระยอง ประธานกรรมการขับเคลื่อนนวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่ ภาคตะวันออกและกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สำนักวิจัยและพัฒนาการอาชีวศึกษา มอบหมายให้วท.ระยอง ดำเนินกิจกรรม ประกวด/ประเมินสิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่ ระดับภาค ภาคตะวันออกและกรุงเทพมหานคร ประจำปีการศึกษา 2566 ภายใต้ชื่องาน "สุดยอดนวัตกรรมอาชีวศึกษา การประกวดสิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่ฯ" กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่มีคุณค่า มีประโยชน์ต่อการส่งเสริม สนับสนุน เสริมสร้างเยาวชนอาชีวศึกษาในการพัฒนาให้เป็นนักประดิษฐ์ คิดค้น และสร้างสรรค์ผลงานด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาตนเองให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคปัจจุบัน ทำให้ประเทศมีบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนา ที่มีคุณภาพ เสริมสร้างสมรรถนะ และสนับสนุนนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อการขับเคลื่อนงานวิจัย และการใช้ประโยชน์ในวงกว้าง เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ อีกทั้งเป็นการพัฒนาศักยภาพด้านการวิจัยให้เยาวชน โดยงานจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-20 มกราคม 2567
ณ วท.ระยอง
การดำเนินงานครั้งนี้ มีอาชีวศึกษาจังหวัดของภาคตะวันออกและกรุงเทพมหานคร เข้าร่วมกิจกรรมจำนวน 12 แห่ง มีคณะครูนักเรียน นักศึกษา เข้าร่วมกิจกรรมจำนวน 3,500 คน และมีประเภทของสิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่ 6 ประเภทผลงาน
- ประเภทที่ 1 สิ่งประดิษฐ์ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี การเกษตรอุตสาหกรรมสมัยใหม่ จำนวน 23 ผลงาน
- ประเภทที่ 2 สิ่งประดิษฐ์ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัล
ปัญญาประดิษฐ์ จำนวน 24 ผลงาน
- ประเภทที่ 3 สิ่งประดิษฐ์ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีพลังงานสิ่งแวดล้อม จำนวน 24 ผลงาน
- ประเภทที่ 4 สิ่งประดิษฐ์ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีอาหาร จำนวน 24 ผลงาน
ประเภทที่ 5 สิ่งประดิษฐ์ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อสุขภาพ (Health Care) จำนวน 22 ผลงาน
- ประเภทที่ 6 สิ่งประดิษฐ์ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี ผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ จำนวน 22 ผลงาน
รวมผลงานที่เข้าร่วมประกวดทั้งสิ้น 140 ผลงาน โดยผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศแต่ละประเภท ได้แก่
ประเภทที่ 1 ชุดอุปกรณ์ตรวจจับโรคใบจุด ว.เทคนิคสัตหีบ
ประเภทที่ 2 แคชเชียร์อัจฉริยะ ว.อาชีวศึกษาชลบุรี
ประเภทที่ 3 ชุดเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานไฟฟ้าระบบอัตโนมัติ ว.เทคนิคชลบุรี
ประเภทที่ 4 ผงผัดหมี่แดง ว.อาชีวศึกษาเอี่ยมละออ
ประเภทที่ 5 เครื่องฝึกสหสัมพันธ์ของมือและตา ว.เทคนิคสัตหีบ
ประเภทที่ 6 การะเวก โมเซล่า คลีนซิ่ง วอเตอร์ สารสกัดจากเปลือกมังคุด
ว.อาชีวศึกษาชลบุรี
รองเลขาธิการ กอศ. กล่าวปิดท้ายว่า สิ่งประดิษฐ์ หรือนวัตกรรมอาชีวศึกษา เป็นผลมาจากการจัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพทำให้ผู้เรียนมีฐานคิด นำปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน มาเข้าสู่กระบวนการวิจัยและพัฒนา เพื่อให้เกิดชิ้นงานหรืออุปกรณ์ที่ทำให้ชีวิตประจำวันมีความสะดวกสบายยิ่งขึ้นโดยอาศัยองค์ความรู้ และศาสตร์ต่างๆ ทางวิชาชีพที่เรียนมา บูรณาการให้เกิดผลงานตามเป้าหมาย
ซึ่งต่อไปต้องการให้มีการสอบถามปัญหาและความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรม ว่ามีสิ่งใดที่ยังเป็นปัญหาในการดำเนินงาน ต้องการปรับหรือพัฒนาอย่างไร อาชีวะ ก็จะช่วยนำเข้าสู่กระบวนการวิจัย วิเคราะห์ เพื่อสร้างนวัตกรรมมาช่วยสนับสนุน
ความคิดเห็น