“didacta asia” ร่วม 7 สถาบันการศึกษาชั้นนำไทย เตรียมรังสรรค์เวทีชิงชนะเลิศ “การแข่งขันควบคุมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติฯ” ปี 2567

didacta asia (ดิแดคต้า เอเชีย) นิทรรศการสื่อการศึกษาและการประชุมนานาชาติ เตรียมเป็นพื้นที่จัดรอบชิงชนะเลิศ การแข่งขันการควบคุมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติด้วยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม 4.0 ครั้งที่ 3 (Thailand Competition on Robotic and Automation Control using Industry 4.0 Technology 3rd) ที่จัดขึ้นโดย 7 หน่วยงานภาคการศึกษาชั้นนำของประเทศไทย เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจทักษะการควบคุมระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์แก่นักเรียนและนักศึกษา ให้สามารถปฏิบัติงานจริงได้ในอุตสาหกรรมตามนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาล พร้อมยกระดับศักยภาพการศึกษาในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ไทยให้เติบโตไปอีกขั้น ในวันที่ 16-18 ตุลาคม 2567 ณ ไบเทค บางนา ฮอลล์ 101 กรุงเทพฯ
นายภูษิต ศศิธรานนท์ ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหาร บริษัท เอ็กซ์โปลิงค์ โกลบอล เน็ทเวอร์ค จำกัด ตัวแทน โคโลญเมสเซ่ ประเทศไทย กล่าวว่า “โคโลญเมสเซ่ และเมสเซ่ สตุ๊ตการ์ท เป็นสองบริษัทที่มีจุดร่วมเดียวกันในการให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมด้านการศึกษาของเยาวชน  ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะได้สัมผัสกับการแลกเปลี่ยนความรู้ ไอเดีย และประสบการณ์ด้านการศึกษาโดยผู้เชี่ยวชาญชั้นนำ พร้อมรวมเอาเทคโนโลยี นวัตกรรม จนถึงสินค้าในอุตสาหกรรมสื่อการศึกษา มาจัดแสดงไว้ในงานเดียวอีกด้วย
didacta asia (ดิแดคต้า เอเชีย) ยังเป็นหมุดหมายสำคัญในการแสดงศักยภาพการศึกษาไทยให้เป็นที่รับรู้ในระดับสากล โดยภายในงานมีการจัดสัมมนาและเวิร์คช้อปอยู่มากมายหลายหัวข้อ รวมถึงการประกวดแข่งขันอีกหลากหลายเวที หนึ่งในนั้นคือรอบชิงชนะเลิศ ‘การแข่งขันการควบคุมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติด้วยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม 4.0’ ครั้งที่ 3 (Thailand Competition on Robotic and Automation Control using Industry 4.0 Technology 3rd) ที่งาน didacta asia (ดิแดคต้า เอเชีย)
สำหรับการแข่งขันการควบคุมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติด้วยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม 4.0 ครั้งที่ 3 เป็นการแข่งขันที่จัดขึ้นโดยความร่วมมือกันของ 7 หน่วยงานภาคการศึกษา ประกอบด้วย สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ, มหาวิทยาลัยรามคำแหง, มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ, สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ด้วยความมุ่งมั่นเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจการฝึกทักษะการควบคุมระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ ให้กับนักเรียนและนักศึกษา เพื่อให้เกิดทักษะความชำนาญและมีเทคนิควิธีการใช้เครื่องมือ เครื่องจักร ที่จะสามารถนำความรู้ที่ได้ไปปฏิบัติงานจริงในภาคอุตสาหกรรมตามนโยบายอุตสาหกรรม 4.0 ของภาครัฐ”
รองศาสตราจารย์เสถียร ธัญญศรีรัตน์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน กล่าวว่า “สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน รู้สึกเป็นเกียรติและมีความพร้อมอย่างยิ่ง ในการร่วมมือกับอีก 6 สถาบันการศึกษาชั้นนำ รวมถึงงาน didacta asia (ดิแดคต้า เอเชีย) เพื่อที่จะผลักดันการศึกษาและเทคโนโลยีด้านอุตสาหกรรมระดับโลกให้กับประเทศไทย และนำองค์ความรู้ที่มีมาพัฒนาเยาวชนและบุคลากรในชาติ ให้เป็นผู้เชี่ยวชาญ มีความชำนาญเพื่อรองรับกับการเติบโตทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน รวมถึงมีความรู้ที่เท่าทันต่ออุตสาหกรรมและเทคโนโลยี ที่พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วภายหลังวิกฤติของโรคระบาด”
ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์วิฑูรย์ อบรม รองอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน กล่าวว่า “การแข่งขันดังกล่าวถือเป็นโอกาสดีที่นักเรียนนักศึกษา โดยเฉพาะในสาขาวิชาเมคคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์ จะได้พัฒนาความรู้ของตัวเอง ทั้ง การฝึกทักษะการควบคุมระบบอัตโนมัติหุ่นยนต์เชื่อมในระบบอุตสาหกรรม, การออกแบบชิ้นส่วนยานยนต์ ตลอดจนเทคนิควิธีการใช้งานเครื่องมือเครื่องจักร ซึ่งล้วนเป็นทักษะที่ตรงกับความต้องการของสถานประกอบการที่มีหุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม (Robotics) ซึ่งเป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายช่วยสร้างกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต และยังเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทางการแข่งขันระหว่างนักศึกษาจากสายอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา ที่ได้ประสิทธิภาพอีกด้วย”
ด้าน นายบุญประเสริฐ พุฒิสรรค์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเทค ไดแด็คติค จำกัด กล่าวว่า “เครือข่ายสถาบันการศึกษาชั้นนำทั้ง 7 หน่วยงาน ต่างเป็นหน่วยงานที่มีภารกิจในการจัดการศึกษา เพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนให้เป็นไปตามความต้องการของตลาดแรงงานและตอบสนองความต้องการของประเทศ ตามนโยบายให้ประเทศไทยมุ่งสู่ Thailand 4.0 ของรัฐบาล โดยการนำเทคโนโลยีออโตเมชันมาใช้ในอุตสาหกรรม จึงกล่าวได้ว่าการแข่งขันในครั้งนี้จะเป็นความร่วมมือลงแรงครั้งสำคัญที่ผลักดันการศึกษาและเทคโนโลยีด้านอุตสาหกรรมระดับโลกมาสู่เยาวชนไทย เพื่อเสริมสร้างแนวคิดและทักษะด้านเทคโนโลยีให้เติบโต พร้อมเป็นพื้นฐานในการพัฒนาให้ภาคอุตสาหกรรมของไทยให้ก้าวสู่ยุค 4.0 ต่อไปในอนาคต
ทั้งนี้ ในการแข่งขันที่จะเกิดขึ้นในงาน didacta asia (ดิแดคต้า เอเชีย) จะประกอบด้วยการแข่งขันรวม 5 หัวข้อ ได้แก่ 
-การแข่งขันการเชื่อมจำลองถาดแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าด้วยหุ่นยนต์อุตสาหกรรม (Electric vehicle battery tray simulation welding competition with industrial robot)
-การแข่งขันควบคุมระบบอัตโนมัติขับเคลื่อนด้วยแกนไฟฟ้าทั้งระบบเชื่อมต่อ IIoT และ ERP (Control competition automation system driven by electric axis for both IIoT and ERP connection systems)
-การแข่งขันเขียนโปรแกรมพีแอลซีควบคุมชุดทดสอบตามมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ (PLC Programming Competition to control test kits according to national skill standards)
-การแข่งขันตรวจสอบชิ้นงานอุตสาหกรรมด้วยเครื่อง 3D Laser Scanner และซอฟต์แวร์ ZEISS Quality Suite (Industrial inspection competition with 3D Laser Scanner and ZEISS Quality Suite software)
-การแข่งขันจำลองสร้างโรงงานอุตสาหกรรมเสมือนจริง ด้วยซอฟต์แวร์ Emulate 3D (Virtual Industrial Factory Simulation Competition with Emulate 3D Software)

ผู้ที่สนใจสามารถติดตามข่าวสารและรายละเอียดของการแข่งขัน พร้อมติดตามรับชมการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ ภายในงานนิทรรศการสื่อการศึกษาและการประชุมนานาชาติ didacta asia  (ดิแดคต้า เอเชีย) ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 16-18 ตุลาคม 2567 ณ ไบเทค บางนา ฮอลล์ 101 กรุงเทพฯ 

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เทคนิคนครสวรรค์รับการประเมินเพื่อรับรางวัลสถานศึกษาอาชีวศึกษาพระราชทาน ประจำปีการศึกษา 2666

วช. มุ่งเป้าใช้งานวิจัยและนวัตกรรม รุกแผนลดอุบัติเหตุทางถนน

สถาบันเทคโนโลยีแห่งสุวรรณภูมิและสถาบันในเครือสารสาสน์ ฉลองครบรอบ 60 ปี จัดงานประชุมวิชาการระดับชาติครั้งที่ 2 พร้อมกิจกรรมจิตอาสาทั่วประเทศ