กระทรวงวัฒนธรรมร่วมกับจังหวัดเเม่ฮ่องสอนร่วมสืบสานประเพณีปอยส่างลอง
จัดงานบรรพสามเณรปอยส่างลอง เฉลิมพระเกียรติกรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ร่วมบรรพชาสืบทอดพระพุทธศาสนา 22-24 เมษายน 2566 เด็กเยาวชนน้อมนำหลักธรรมไปใช้ในชีวิต เกิดศาสนทายาท สืบสานประเพณีท้องถิ่นที่ดีงาม
วันที่ 23 เมษายน 2566 เวลา 10.30 น. พระสุมณฑ์ศาสนกิตติ์ เจ้าคณะจังหวัดแม่ฮ่องสอน
เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานฝ่ายฆราวาส
ในพิธีบรรพชาสามเณรเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ 2 เมษายน 2566 โดยมี นายเชษฐา โมสิกรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน นายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนา พร้อมด้วยผู้บริหารหน่วยงาน
ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ผู้ปกครองและพุทธศาสนิกชน รวมทั้งเด็กและเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการ
จำนวนกว่า 500 คน ณ วัดในสอย จังหวัดแม่ฮ่องสอน
นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยว่า กระทรวงวัฒนธรรม
โดยกรมการศาสนาได้จัดบรรพชาสามเณรตามประเพณีปอยส่างลอง เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ 2 เมษายน 2566 ซึ่งกระทรวงวัฒนธรรมได้ดำเนินการจัดบรรพชาสามเณรและบวชศีลจาริณีเพื่อเป็นต้นแบบมาแล้ว
ทั้งในส่วนกลางที่ วัดยานนาวา และส่วนภูมิภาคที่วัดพนัญเชิง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา วัดพิชโสภาราม จังหวัดอุบลราชธานี และวัดราชบุรณะ จังหวัดชุมพร รวมถึงการจัดงานบรรพชาสามเณรตามประเพณีปอยส่างลองเมื่อวันที่ 3-5 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา ที่ วัดปางล้อ จังหวัดแม่ฮ่องสอน และในครั้งนี้ในวันที่ 22-24 เมษายน 2566 ที่ วัดในสอย ตำบลปางหมู จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยมีสามเณรบรรพชาตามประเพณีปอยส่างลองทั้ง 2 ครั้ง จำนวนกว่า 100 องค์ ที่เกิดจากแรงศรัทธาของบิดา มารดาของคนไต (ไทใหญ่) ที่ยึดมั่นในบวรพระพุทธศาสนาอย่างมั่นคง สนับสนุนให้กุลบุตรอุทิศตนบรรพชาในพระพุทธศาสนา และได้เป็นผู้มีบุญ
อันยิ่งใหญ่ โดยสละสิ่งของเงินทองที่เป็นทรัพย์ภายนอก เพื่อสนับสนุนกุลบุตรให้ได้มีโอกาสพบอริยทรัพย์ในทางพระพุทธศาสนา โดยการบรรพชา เพื่อเสียสละ ความสุขลาภยศสรรเสริญ มุ่งสู่พระนิพพาน
โดยในวันที่ 22 เมษายน 2566 เป็นวันรับส่างลอง/เรียกขวัญส่างลอง ปลงผมส่างลอง (จางลอง)
และแห่ส่างลองเพื่อขอขมาพระสงฆ์/สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ (ศาลเจ้าเมือง) ณ วัดในสอย ขอขมาผู้ใหญ่บ้าน
และผู้ใหญ่ในหมู่บ้านที่เคารพนับถือ วันที่ 23 เมษายน 2566 เคลื่อนขบวนแห่สามเณรการแห่เครื่องไทยธรรมและอัฐบริขารต่างๆ (ครัวหลู่) พิธีผูกข้อมือรับขวัญส่างลองเพื่อให้ญาติผู้ใหญ่ได้ผูกข้อมืออวยพร ให้พรแก่ส่างลอง และพิธีบรรพชาสามเณร (ข่ามส่าง) ตามประเพณีของชาวไทใหญ่ วันที่ 24 เมษายน 2566
พิธีบรรพชาอุปสมบท (ข่ามจาง) ณ วัดในสอย
ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวต่อว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนา ร่วมกับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด หน่วยงานเครือข่ายในพื้นที่นำร่อง 76 จังหวัด ร่วมดำเนินโครงการบรรพชาสามเณรและบวชศีลจาริณีทั่วประเทศ ตั้งแต่เดือนมีนาคม ถึงเดือน พฤษภาคม 2566
มีเด็กและเยาวชนเข้าร่วมโครงการ จำนวนกว่า 10,000 คน เป็นการเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนได้แสดงความจงรักภักดี ทำความดีด้วยการบรรพชาสามเณรและบวชศีลจาริณีเพื่อถวายพระราชกุศล
อีกทั้งยังเป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวทิตาต่อบุพการีและผู้มีอุปการคุณอีกด้วย ซึ่งเด็กและเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการจะได้ศึกษาและปฏิบัติธรรม อาทิ ธรรม วินัย พุทธประวัติ เทศนา ศาสนพิธี ภาวนาและฝึกสมาธิ เป็นการพัฒนาจิตให้สงบ ทั้งยังเป็นการจรรโลงศาสนาทำให้เกิดศาสนทายาทในบวรพระพุทธศาสนา
และสืบสานประเพณี ท้องถิ่นที่ดีงามให้คงอยู่คู่สังคมไทยสืบไป ซึ่งสิ่งที่ก่อให้ประโยชน์ที่ได้รับหลังการบวช จะทำให้เด็กและเยาวชนจะได้น้อมนำหลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนาไปปรับใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน ช่วยให้เกิดปัญญาในการเรียน ค่านิยมทำความดี มีคุณธรรมจริยธรรม มีวินัย รับผิดชอบ มีจิตสาธารณะ มีความกตัญญู ส่งผลให้มีจิตใจที่เข้มแข็ง เป็นคนดี คนเก่ง และคนมีคุณภาพ เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาสังคมและประเทศชาติในเจริญรุ่งเรืองสืบไป
\\\
ความคิดเห็น