ศน. เผยผลการดำเนินงานโครงการศูนย์อบรมศาสนาอิสลามและจริยธรรมประจำมัสยิด (ศอม.) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ส่งเสริมการศึกษาด้านศาสนา หนุนมัสยิดเป็นพื้นที่สร้างกิจกรรมชุมชน

นายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนา กล่าวว่า กรมการศาสนาได้ขับเคลื่อนงานและบทบาทภารกิจในการทำนุบำรุง อุปถัมภ์ คุ้มครองกิจการด้านศาสนา โดยได้ดำเนินการส่งเสริมการศึกษาด้านศาสนาอิสลามแก่เยาวชนมุสลิมทั่วประเทศ ผ่านโครงการศูนย์อบรมศาสนาอิสลามและจริยธรรมประจำมัสยิด (ศอม.) เพื่อปลูกฝังและเสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรม พัฒนาคุณภาพชีวิต ด้วยการฝึกอบรมตั้งแต่เยาว์วัย ใช้มัสยิดเป็นสถานศึกษาอบรม มีบุคลากรทางการศึกษาด้านศาสนาเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจได้อย่างถูกต้อง และใช้หลักคำสอนทางศาสนาขัดเกลาจิตใจให้เป็นคนดี สอดคล้องกับนโยบายของกรมการศาสนาที่มุ่งนำธรรมะสู่ใจประชาชน ควบคู่กับการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ทางศาสนา ทั้งนี้ ได้ส่งเสริมให้มัสยิดเป็นศูนย์กลางในการนำหลักธรรมคำสอนไปพัฒนาเยาวชนและชุมชน ด้วยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปปรับประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน และสนับสนุนให้มัสยิดเป็นพื้นที่จัดกิจกรรมแก่เด็ก เยาวชน และประชาชน ซึ่งจะทำให้เกิดการบูรณาการร่วมกันระหว่างมัสยิด ชุมชน และหน่วยงานต่าง ๆ
อธิบดีกรมการศาสนา กล่าวต่อไปว่า สำหรับการเรียนการสอนของ ศอม. แต่ละศูนย์นั้น ใช้หลักสูตรวิชาการศาสนาอิสลามภาคบังคับ (ฟัรฎอัยน์) พ.ศ. 2560 ของสมาคมคุรุสัมพันธ์อิสลามแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยที่ผ่านมาแต่ละศูนย์ได้ปรับการเรียนการสอนเป็นรูปแบบออนไลน์ทุกระดับชั้น นำเครื่องมือและอุปกรณ์ทางเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญกับการศึกษามากขึ้น ถือเป็นการปรับตัวในช่วง
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่งตลอดระยะเวลาการจัดตั้งโครงการ ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2541-2565 มีศูนย์ ศอม. ทั้งสิ้น 35 จังหวัด จำนวน 1,027 ศูนย์ และในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 มีศูนย์ที่มีการขอจัดตั้งใหม่ทั้งหมด จำนวน 6 ศูนย์ และมีการขอเลิกศูนย์ จำนวน 5 ศูนย์ ทั้งนี้ มีจำนวนครูผู้สอนทั้งหมด 2,177 คน ในขณะที่มีจำนวนนักเรียน 71,729 คน โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากกรมการศาสนา ทั้งสิ้น 844 ศูนย์ 
นายชัยพล สุขเอี่ยม กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากการเรียนการสอนตามหลักสูตรแล้ว กรมการศาสนายังส่งเสริมให้ ศอม. แต่ละศูนย์จัดกิจกรรมบูรณาการความร่วมมือให้แก่เด็ก เยาวชน และประชาชนในพื้นที่ อาทิ 1.กิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาด้านการเรียนการสอน โดยนำเยาวชนร่วมแสดงความสามารถด้านวิชาการในงานประจำปีมัสยิด การลงพื้นที่เพื่อสอนศาสนาตามบ้านเรือนในช่วง COVID-19 2.กิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ได้แก่ กิจกรรมตามรอยศาสตร์พระราชา กิจกรรมเฉลิมพระเกียรติวันพ่อและวันแม่แห่งชาติ 3.กิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ด้านวัฒนธรรมและวันสำคัญทางศาสนา เช่น วันอิฎิ้ลฟิตรี่ วันเมาลิดนบี กิจกรรมต้อนรับเดือนรอมฎอน กิจกรรมเรียนรู้วัฒนธรรมอิสลาม เป็นต้น 4.กิจกรรมจิตอาสา เช่น กิจกรรมรวมน้ำใจงานจิตอาสา สนับสนุนงานศาสนพิธีในชุมชนและต่างชุมชน การพัฒนากุโบร์ (สุสาน) มัสยิด การปลูกต้นไม้บำรุงพื้นที่สาธารณะภายในชุมชน และ 5.กิจกรรมด้านการเสริมสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างศาสนา ด้วยโครงการเยาวชนศาสนิกสัมพันธ์ รวมถึงกิจกรรมทบทวน เสวนา แลกเปลี่ยนเรียนรู้การปฏิบัติธรรม เป็นต้น
กรมการศาสนาได้เห็นถึงความสำคัญของเยาวชนซึ่งถือเป็นอนาคตของชาติ และเห็นว่าการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเยาวชนในสังคมนั้น จำเป็นต้องใช้หลักคำสอนทางศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจ ดังนั้นการจัดโครงการศูนย์อบรมศาสนาอิสลามและจริยธรรมประจำมัสยิด จึงถือเป็นการสนับสนุนให้องค์กรทางศาสนามีบทบาทสำคัญในการน้อมนำพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการส่งเสริมให้ผู้เรียนยึดมั่นในศาสนา ปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรม สร้างโอกาสการบูรณาการร่วมกับองค์กรเครือข่ายทุกภาคส่วนในพื้นที่ชุมชนทั่วประเทศ สร้างความเข้มแข็งในชุมชน และต่อยอดในการพัฒนาเยาวชนซึ่งเป็นกำลังสำคัญต่อการพัฒนาประเทศชาติต่อไป อธิบดีกรมการศาสนา กล่าว

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เทคนิคนครสวรรค์รับการประเมินเพื่อรับรางวัลสถานศึกษาอาชีวศึกษาพระราชทาน ประจำปีการศึกษา 2666

วช. มุ่งเป้าใช้งานวิจัยและนวัตกรรม รุกแผนลดอุบัติเหตุทางถนน

สถาบันเทคโนโลยีแห่งสุวรรณภูมิและสถาบันในเครือสารสาสน์ ฉลองครบรอบ 60 ปี จัดงานประชุมวิชาการระดับชาติครั้งที่ 2 พร้อมกิจกรรมจิตอาสาทั่วประเทศ