วช. ชวนกิน “ฟัวกราส์จากพืช” อาหารทางเลือก ตอบโจทย์สุขภาพ เทศกาลกินเจ

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ขอต้อนรับเทศกาลกินเจปีนี้ ด้วยผลงานวิจัย “ฟัวกราส์ จากพืชซุปเปอร์ฟู้ด ทดแทนตับห่าน” เทรนด์ใหม่สำหรับผู้ที่ใส่ใจสุขภาพ ของ นายทัพพ์ศรณ์ ทรัพย์สรณ แห่ง บริษัท อินทิกรัล-เทค จำกัด ซึ่งเป็นหนึ่งในผลงานที่เข้าร่วมประกวด “ผลงานสิ่งประดิษฐ์คิดค้น” เพื่อขอรับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2566 ที่ผ่านมา
นายทัพพ์ศรณ์ ทรัพย์สรณ กล่าวว่า ฟัวกราส์ตับห่าน เป็นอาหารโอชารสเลิศของฝรั่งเศสที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก เนื่องจากมีรสชาติอร่อยหอมกรุ่นนุ่มนวลแทบละลายได้เองในปาก ถือว่าเป็นอาหารสุดหรูราคาแพงอีกเมนูหนึ่ง แต่ก็มีไขมันมาก แคลอรี่ และคอเรสเตอรอลสูง ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพถ้าบริโภคมากเกินไป อีกทั้งไม่มีส่วนที่เป็นเส้นใยไฟเบอร์ และยังมีความเสี่ยงที่จะมีการปนเปื้อนจากเชื้อโรคได้อีกด้วย เพราะการปรุงของฟัวกราส์ตับห่านจะใช้ความร้อนไม่สูง จึงไม่สามารถฆ่าเชื้อโรคได้ทั่วถึง นอกจากนี้ ฟัวกราส์ตับห่านยังถูกแบนไม่ให้ผลิตและจำหน่ายแล้วในหลายประเทศ เนื่องจากมีการบังคับกรอกอาหารเลี้ยงตับพอกไขมันให้โตผิดปกติ ถือเป็นการทรมานสัตว์และขัดต่อหลักศาสนาในบางประเทศ
จากเหตุผลดังกล่าวทำให้ผู้วิจัยได้เล็งเห็นถึงโอกาสของการคิดค้นสิ่งประดิษฐ์เพื่อทดแทนตลาดโลก ด้วย “ฟัวกราส์ จากพืชซุปเปอร์ฟู้ด” จากวัตถุดิบผลผลิตทางการเกษตรเหลือทิ้งของบ้านเราในรูปแบบ Zero Waste และ BCG โดยได้ทำการคัดเลือกพืชที่มีโปรตีนใกล้กับเนื้อสัตว์จนได้ เม็ดขนุน เนื่องจากเป็นวัสดุเหลือจากกระบวนการผลิตเนื้อขนุนอบแห้งทอดกรอบ และกากเมล็ดกัญชงจากอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องสำอางค์ นำมาทำฟัวกราส์ ให้พลังงาน สารอาหาร และแร่ธาตุสำคัญต่อการบริโภค อุดมด้วยโปรตีน กรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัวที่ดีต่อสุขภาพ โอเมก้า6 และโอเมก้า3 สารต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ ปรับระบบภูมิคุ้มกัน ซ่อมแซมดีเอ็นเอ มีไฟเบอร์ที่เป็นอาหารพรีไพโบโอติกของแบคทีเรียดีที่เป็นประโยชน์ในลำไส้ ช่วยในการปรับสมดุลของระบบย่อยอาหาร มีวิตามินบี 12 ที่หาได้ยากในพืช ช่วยในการเสริมสร้างการเจริญเติบโตและการทำงานของระบบประสาทและการสร้างเม็ดเลือด นอกเหนือจากธาตุเหล็ก และแคลเซียม สำหรับผู้ที่ไม่รับประทานเนื้อสัตว์มักจะบกพร่องขาดแคลน 
ส่วนกระบวนการผลิต “ฟัวกราส์ จากพืชซุปเปอร์ฟู้ด” ใช้ Food Tech แปรรูปด้วยเทคโนโลยี Extrusion ทำการผสมและนวดให้เป็นเนื้อเดียวกัน เกิดความร้อนขณะที่วัตถุดิบและส่วนผสมเคลื่อนที่จะมีแรงอัดเพิ่มขึ้น ผ่านหน้าพิมพ์ได้ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีรูปร่างและเนื้อสัมผัสตามแบบที่กำหนดต้องการ และนำไปผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อแบบ Retort ที่เป็นเทคโนโลยียืดอายุอาหาร ให้เก็บรักษาไว้ที่อุณภูมิปกติได้นานถึง 18 เดือน โดยไม่ต้องแช่แข็ง และไม่ต้องใส่วัตถุกันเสีย
นอกจากนี้ ผู้วิจัยได้ทำการสำรวจมูลค่าตลาดโลกในปี 2564 พบว่า ฟัวกราส์ตับห่าน มีมูลค่า 1,320 ล้านเหรียญสหรัฐ และฟัวกราส์ จากพืช ในตลาดมังสวิรัติ วีแกนมีมูลค่า 26,830 ล้านเหรียญสหรัฐ จึงถือเป็นโอกาสทองของฟัวกราส์ จากพืชซุปเปอร์ฟู้ด ที่มีรสชาติและเนื้อสัมผัสใกล้เคียงกับฟัวกราส์จากสัตว์ และผ่านเกณฑ์มาตรฐานอาหารฮาลาล อีกทั้งมีคุณค่าทางโภชนาการที่ดีกว่า เสิร์ฟ รับประทานได้แบบทอดและไม่ทอด ที่พร้อมจะผลิตออกสู่ตลาดโลกทำรายได้เข้าประเทศตามนโยบายส่งเสริมสินค้าเกษตรนวัตกรรมของภาครัฐ

ดังนั้น วช. จึงขอเชิญชวนให้ประชาชน ร่วมทำบุญในเทศกาลกินเจประจำปี 2565 งดเว้นการบริโภคเนื้อสัตว์ ประพฤติตนอยู่ในศีลธรรม เพื่อเสริมสร้างบุญกุศลให้กับตนเอง และคนรอบข้าง อีกด้วย

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เทคนิคนครสวรรค์รับการประเมินเพื่อรับรางวัลสถานศึกษาอาชีวศึกษาพระราชทาน ประจำปีการศึกษา 2666

วช. มุ่งเป้าใช้งานวิจัยและนวัตกรรม รุกแผนลดอุบัติเหตุทางถนน

สถาบันเทคโนโลยีแห่งสุวรรณภูมิและสถาบันในเครือสารสาสน์ ฉลองครบรอบ 60 ปี จัดงานประชุมวิชาการระดับชาติครั้งที่ 2 พร้อมกิจกรรมจิตอาสาทั่วประเทศ