กระทรวงอุตฯ ชู 41 องค์กรต้นแบบ เตรียมรับรางวัลจากนายกรัฐมนตรี ในงานมอบ "รางวัลอุตสาหกรรม ประจำปี 2567"
กรุงเทพฯ 11 ธันวาคม 2567 – นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม แถลงข่าวการเตรียมจัดงานพิธีมอบ "รางวัลอุตสาหกรรม ประจำปี 2567" ในวันที่ 18 ธันวาคมนี้ ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยมี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้เกียรติเป็นประธานในการมอบรางวัลฯ เพื่อเชิดชูศักยภาพองค์กรต้นแบบ 41 แห่งทั่วประเทศ เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมได้ขับเคลื่อนตามนโยบาย “ปฏิรูปอุตสาหกรรมเศรษฐกิจยุคใหม่ ทันสมัย สะดวก สะอาด โปร่งใส” ผนวกกับแนวคิด MIND “อุตสาหกรรมเศรษฐกิจ” ที่ “เติบโตอย่างยั่งยืนคู่ชุมชน” ใน 4 มิติ พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศสู่ความเข้มแข็ง
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมจัดงานมอบรางวัลอุตสาหกรรม ประจำปี พ.ศ. 2567 (The Prime Minister’s Industry Award 2024) ในวันที่ 18 ธันวาคมนี้ ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยได้รับเกียรติจากนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้เกียรติเป็นประธานมอบรางวัลให้แก่สถานประกอบการที่มีความเป็นเลิศ ทั้งในด้านการเพิ่มผลผลิต คุณภาพ ความปลอดภัย การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและพลังงาน โลจิสติกส์และโซ่อุปทาน อุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต ความรับผิดชอบต่อสังคม เศรษฐกิจหมุนเวียน รวมถึงการพัฒนานวัตกรรมสร้างสรรค์ที่เป็นประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรมโดยรวมของประเทศ นอกจากนี้ ยังเป็นการเชิดชูเกียรติ และเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้กับผู้ประกอบการที่พัฒนานวัตกรรมสร้างสรรค์ที่เป็นประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรมและชุมชนโดยรวมของประเทศ
การพิจารณารางวัลอุตสาหกรรมประจำปี พ.ศ. 2567 จะมุ่งเน้นให้รางวัลกับสถานประกอบการที่มุ่งสู่การพัฒนาและปรับเปลี่ยนการประกอบการภาคอุตสาหกรรม ตามนโยบาย “ปฏิรูปอุตสาหกรรมเศรษฐกิจยุคใหม่ ทันสมัย สะดวก สะอาด โปร่งใส” ภายใต้แนวคิด “อุตสาหกรรมเศรษฐกิจ” ที่ “เติบโตอย่างยั่งยืนคู่ชุมชน” โดยเน้นมาตรการและกลไกมุ่งสู่ความสำเร็จ 4 มิติ ประกอบด้วย มิติที่ 1 ความสำเร็จทางธุรกิจเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมเศรษฐกิจ มิติที่ 2 ความอยู่ดีกับสังคมโดยรวมส่งเสริมการทำงานร่วมกันระหว่างสถานประกอบการ ชุมชน และสังคมให้อยู่ร่วมกันอย่างเป็นมิตร มิติที่ 3 ความลงตัวกับกติกาสากล ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมสู่อุตสาหกรรมสีเขียว เพื่อโอกาสทางธุรกิจมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนตอบโจทย์ไทยและประชาคมโลก และมิติที่ 4 การกระจายรายได้สู่ชุมชนที่ตั้ง (กระจายรายได้ และสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน)
ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า สำหรับรางวัลอุตสาหกรรม ประจำปี พ.ศ. 2567 (The Prime Minister’s Industry Award 2023) มีจำนวน 14 ประเภทรางวัล มีผู้ได้รับรางวัลจำนวน ทั้งสิ้น 41 รางวัล และสถานประกอบการที่ได้รับรางวัลอุตสาหกรรมยอดเยี่ยม ได้แก่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด (โรงงานเกตเวย์) จังหวัดฉะเชิงเทรา สามารถดูรายชื่อผู้ได้รับรางวัลอุตสาหกรรม ประจำปี พ.ศ.2567 ได้ที่เว็บไซต์กระทรวงอุตสาหกรรม โดยแบ่งประเภทรางวัล ดังนี้
1. รางวัลอุตสาหกรรมยอดเยี่ยม (The Prime Minister’s Best Industry Award) จำนวน 1 รางวัล ซึ่งคัดเลือกจากสถานประกอบการที่เคยได้รับรางวัลอุตสาหกรรมดีเด่นมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ประเภท และเป็นสถานประกอบการที่มีการพัฒนาศักยภาพขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีมาตรฐานการผลิตในระดับสากล
2. รางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น (The Prime Minister’s Industry Award) จำนวน 23 รางวัล แบ่งเป็น 9 ประเภท ประกอบด้วย 1) ประเภทการเพิ่มผลผลิต จำนวน 7 รางวัล 2) ประเภทการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม จำนวน 1 รางวัล 3) ประเภทการบริหารความปลอดภัย จำนวน 1 รางวัล 4) ประเภทการบริหารงานคุณภาพ จำนวน 2 รางวัล 5) ประเภทการจัดการพลังงาน จำนวน 2 รางวัล 6) ประเภทการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน จำนวน 1 รางวัล 7) ประเภทอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต จำนวน 6 รางวัล 8) ประเภทความรับผิดชอบต่อสังคม จำนวน 1 รางวัล และ 9) ประเภทเศรษฐกิจหมุนเวียน จำนวน 2 รางวัล
3. รางวัลอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมดีเด่น (The Prime Minister’s Small and Medium Industry Award) จำนวน 17 รางวัล แบ่งเป็น 4 ประเภท ได้แก่ 1) ประเภทการบริหารจัดการที่ดี จำนวน 3 รางวัล 2) ประเภทการพัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์ จำนวน 7 รางวัล 3) ประเภทการจัดการเทคโนโลยีเชิงนวัตกรรม จำนวน 5 รางวัล และ 4) ประเภทบริหารธุรกิจสู่สากล จำนวน 2 รางวัล
นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรม มอบหมายให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม เป็นหน่วยงานหลักในการจัดงานรางวัลอุตสาหกรรม ประจำปี พ.ศ. 2567
โดยมีสถานประกอบการให้ความสนใจสมัครเข้ารับการคัดเลือก จำนวนทั้งสิ้น 162 ราย แบ่งเป็นรางวัลอุตสาหกรรมยอดเยี่ยม จำนวน 4 ราย รางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น และรางวัลอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม ทั้ง 13 ประเภท รวม 158 ราย ซึ่งในปีผู้ได้รับรางวัลอุตสาหกรรมยอดเยี่ยมยังได้รับรางวัลพิเศษ ทูตอุตสาหกรรมภาคเอกชน หรือ MIND Ambassador ซึ่งรางวัลนี้เปรียบเสมือนตัวแทนของกระทรวงอุตสาหกรรมจากภาคเอกชนที่จะเป็นต้นแบบการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันภาคอุตสาหกรรมที่ดีและอยู่คู่กับชุมชนอย่างยั่งยืน รวมถึงเป็นหน่วยงานกลาง ในการประสานความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมและส่งเสริม สร้างภาพลักษณ์ที่ดีผ่านการดำเนินโครงการ/กิจกรรม ตลอดจนช่วยประชาสัมพันธ์ ข้อมูลข่าวสาร และบริการของหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมอีกด้วย
ทั้งนี้ การปฏิรูปอุตสาหกรรมเศรษฐกิจยุคใหม่นั้นส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยภาคอุตสาหกรรมจำเป็นต้องพัฒนายกระดับศักยภาพ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ทัดเทียมกับนานาประเทศ โดยกิจกรรมหนึ่งที่สนับสนุนให้ภาคอุตสาหกรรมตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาศักยภาพอย่างต่อเนื่อง คือ การจัดงานมอบรางวัลอุตสาหกรรม โดยกระทรวงอุตสาหกรรมมุ่งหวังให้เกิดการพัฒนาสถานประกอบการอย่างมีศักยภาพ เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการผลิตของภาคอุตสาหกรรมและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทางการค้า ซึ่งจะทำให้ “อุตสาหกรรมเศรษฐกิจ” ที่ “เติบโตอย่างยั่งยืนคู่ชุมชน” ต่อไป
นายสมคิด ประดิษฐกำจรชัย รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ (กลุ่มงานการผลิต) บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า โตโยต้ามีแนวทางการดำเนินบทบาทในฐานะทูตอุตสาหกรรมภาคเอกชน หรือ MIND Ambassador โดยนอกเหนือจากการเป็นผู้ผลิตรถยนต์ที่ดีแล้ว โตโยต้ายังมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างหนทางสู่การเป็นองค์กรแห่งการขับเคลื่อนในอนาคตที่ยั่งยืน ซึ่งแนวคิดขององค์กรแห่งการขับเคลื่อนนี้ จะต้องเป็นไปอย่างสมดุล ระหว่างการเจริญเติบโตทางธุรกิจกับการพัฒนาที่ยั่งยืน คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และสังคม หมุดหมายปลายทางด้านสิ่งแวดล้อมที่ตั้งเป้าไว้คือการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนด้านสังคม โตโยต้ายังคงมุ่งมั่นที่จะมอบความสุขและรอยยิ้มกับคนไทยทุกคน
ความคิดเห็น