ทึ่ง! ผลงานอาชีวะพัฒนาเด็กพิเศษ "นวัตกรรมพร้อมใช้สู่ชุมชน" ฝีมือ ว. เทคนิคพระนครศรีอยุธยา

5 มีนาคม 2567 นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา มอบให้นายนิรุตต์ บุตรแสนลี ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการอาชีวศึกษา เป็นประธานมอบนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ให้กับศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมี นางอำไพพิศ บุนนาค ผู้อำนวยการศูนย์ ฯ เป็นผู้รับมอบ ในการนี้ ได้รับเกียรติจาก ดร.เบญจลักษณ์ น้ำฟ้า กรรมการผู้จัดการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ร่วมแสดงความยินดีและให้กำลังใจกับนักศึกษา โดยมีผู้บริหารสถานศึกษาสังกัด สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายประเสริฐ แสงโป๋ อาจารย์ที่ปรึกษาด้านนวัตกรรม นักศึกษา และคณะครู นักกายภาพบำบัด ร่วมพิธี ณ ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา 
นายนิรุตต์ บุตรแสนลี กล่าวว่า  เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้ให้ความสำคัญกับผู้เรียนอาชีวศึกษา พร้อมส่งเสริมสนับสนุนผู้เรียนด้านงานวิจัยสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรม ตามวิสัยทัศน์ ผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาสมรรถนะสูง เพื่อการพัฒนาประเทศ โดยยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ภายใต้นโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ “เรียนดี มีความสุข” ในแนวทางการทำงาน “จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน” 
เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างเท่าเทียมในทุกมิติ การจัดการเรียนการสอนอาชีวศึกษายุคใหม่โดยใช้การวิจัยและพัฒนา จะช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ต่างๆ เป็นนำนักศึกษาออกจากห้องเรียนสู่สังคม  ชุมชน เพื่อรับรู้ปัญหาในพื้นที่และช่วยแก้ปัญหาโดยการนำวิชาชีพที่เรียนมาประยุกต์สร้างสิ่งประดิษฐ์ที่เป็นประโยชน์เพื่อพัฒนาสังคม  ซึ่งนอกจากจะพัฒนาตนเองให้เกิดทักษะวิชาชีพแล้ว ยังทำให้เกิดทักษะชีวิตตามมาด้วย วิทยาลัยเทคนิคพระนครศรีอยุธยา ได้ร่วมกับศูนย์การศึกษาพิเศษฯ สร้างเครื่องมือที่เป็นนวัตกรรมเสริมการเรียนรู้ให้กับเด็กพิเศษในศูนย์การศึกษาพิเศษฯ 
นวัตกรรมที่สร้างขึ้นนี้ เป็นผลงานของนักศึกษาสาขาไฟฟ้ากำลัง ระดับ ปวส. โดยได้นำโครงงานจากการเรียนมาวางแผน สร้างนวัตกรรมแก้ไขปัญหา และสิ่งที่ได้มา นอกจากชิ้นงานแล้วยังมีโอกาสทำงานร่วมกับผู้อื่น ส่งผลให้เกิดองค์ความรู้ที่หลากหลาย มีสัมพันธภาพที่ดี และมีจิตที่เป็นสาธารณะ ช่วยเหลือผู้อื่น ผลงานสิ่งประดิษฐ์ที่นำมามอบมีจำนวน 2 ชิ้น ได้แก่
 1. เครื่องพัฒนาการนั่ง ช่วยฟื้นฟูกล้ามเนื้อที่ใช้ในการนั่ง กล้ามเนื้อคอ การทรงตัว และกระตุ้นการทำกิจกรรมของเด็ก 
2. เครื่องกายภาพบำบัดการยืนและเดิน ช่วยฟื้นฟูการยืนและเดินของเด็กพิเศษจากระบบประสาท ใช้สั่งการกล้ามเนื้อขา และพัฒนาการเดิน การทรงตัว กระตุ้นการเคลื่อนไหว และความแข็งแรงของกล้ามเนื้อลำตัวและขา
  ซึ่งสิ่งประดิษฐ์ที่ส่งมอบให้กับศูนย์การศึกษาพิเศษฯ นี้ ผ่านการควบคุมภายใต้การดูแลของนักกายภาพบำบัด จึงตอบโจทย์และเป็นตัวช่วยในการบำบัดและฟื้นฟูที่ดี
ด้าน ดร.เบญจลักษณ์ น้ำฟ้า กรรมการผู้จัดการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี  กล่าวว่า ชื่นชมการทำงานร่วมกัน ระหว่าง ศูนย์การศึกษาพิเศษฯ และสอศ. โดย ว.เทคนิค พระนครศรีอยุธยา ถือเป็นความร่วมมือที่ดีอย่างยิ่งในการช่วยพัฒนาเด็กที่มีปัญหาทางกายภาพ ให้มีพัฒนาการและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เมื่อได้มาเห็นสิ่งประดิษฐ์ของนักเรียนอาชีวะ
 มูลนิธิฯ จะช่วยส่งเสริม หาช่องทางและความร่วมมือจากบุคคลหรือหน่วยงานที่มีความพร้อม เพื่อสนับสนุนนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ให้มีคุณภาพและมีปริมาณมากขึ้น ตรงตามความต้องการของผู้ใช้ ทั้งในสังคมเมืองและสังคมชนบท  การที่อาชีวะสร้างคนให้มีความรู้ มีทักษะเพื่อไปแก้ปัญหาในการดำเนินชีวิต เป็นสิ่งที่เกิดประโยชน์มหาศาลกับสังคม 
การคิดค้นสิ่งใดไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เมื่อทำแล้วโอกาสแห่งความสำเร็จก็จะเกิดขึ้น ผู้ทำสิ่งประดิษฐ์ก็จะรู้สึกภาคภูมิใจ มั่นใจ พร้อมที่จะประกอบอาชีพได้ในอนาคต ที่สำคัญจะเป็นคนที่มีจิตสาธารณะอาสาช่วยเหลือผู้อื่น การเรียนสายอาชีวะถือได้ว่าตอบโจทย์การมีงานทำ และสร้างคนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบ

#เรียนดีมีความสุข
#สิ่งประดิษฐ์อาชีวะ 
#นวัตกรรมพร้อมใช้
#Prสอศ

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เทคนิคนครสวรรค์รับการประเมินเพื่อรับรางวัลสถานศึกษาอาชีวศึกษาพระราชทาน ประจำปีการศึกษา 2666

วช. มุ่งเป้าใช้งานวิจัยและนวัตกรรม รุกแผนลดอุบัติเหตุทางถนน

สถาบันเทคโนโลยีแห่งสุวรรณภูมิและสถาบันในเครือสารสาสน์ ฉลองครบรอบ 60 ปี จัดงานประชุมวิชาการระดับชาติครั้งที่ 2 พร้อมกิจกรรมจิตอาสาทั่วประเทศ