“เอนก เหล่าธรรมทัศน์ “ย้ำชัด” นักวิจัยไทยมีศักยภาพสูง และสามารถเป็นชาติวิทยาศาสตร์ได้ ด้านซีอีโอชั้นนำของประเทศ “รับลูก” ความสำคัญของการวิจัยและนวัตกรรม เป็นกุญแจดอกสำคัญช่วยไขโจทย์ความท้าทายของภาคอุตสาหกรรม
หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ภายใต้สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ(สอวช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดงาน “ บพข. สร้างสรรค์เศรษฐกิจไทย เชื่อมโลกด้วยวิจัยและนวัตกรรม ประจำปี 2566 หรือ PMUC Research for Thailand’s Competitiveness 2023” ขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อวันก่อน เพื่อเปิดชเวทีในการขับเคลื่อนให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานวิจัยภาครัฐและภาคเอกชน
เพื่อการนำไปใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและนวัตกรรมได้อย่างเป็นรูปธรรม สามารถยกระดับพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยมี “ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานเปิดงานพร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “อว. กับความร่วมมือภาครัฐและเอกชนในการผลักดันเศรษฐกิจไทยด้วยวิจัยและนวัตกรรม”
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก กล่าวว่า ยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่รู้สึกว่าประเทศไทยยังเป็นประเทศที่ยากจน ซึ่งจริง ๆ แล้วประเทศไทยเป็นประเทศมีรายได้ปานกลางระดับบน และจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วให้ได้ภายในปี 2580
ซึ่งหลายๆ หน่วยงานรวมถึง อว. จะร่วมขับเคลื่อนอย่างจริงจัง โดยปัจจุบันขนาดเศรษฐกิจของประเทศไทยใหญ่ติดอันดับ 24 ของโลก และใหญ่เป็นอันดับ 2 ในอาเซียนรองจากอินโดนีเซีย ซึ่งไทยถือเป็นศูนย์กลางของอาเซียนและยังเป็นจุดที่เชื่อมโยงไปยังเอเชียตะวันออก
ทำให้เมื่ออาเซียนรวมกับจีนและอินเดียแล้ว จะมีขนาดเศรษฐกิจถึง 1 ใน 3 ของโลก และมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง การที่ประเทศไทยอยู่ในภูมิรัฐศาสตร์ที่เป็นเลิศ จะเป็นแรงเสริมทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยสูงยิ่งขึ้น
“ จากการดำเนินงานของ บพข.ที่เกิดขึ้นในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 แสดงให้เห็นถึงความสามารถของนักวิจัยไทยในยามวิกฤติที่สามารถพัฒนางานวิจัยต่าง ๆ ได้ดี ทั้งการพัฒนาชุดตรวจ วัคซีนและห้องความดันลบต่าง ๆ
ซึ่งได้มีการเปลี่ยนแปลงหลักการคิดจากเดิมที่เคยแต่ซื้อเทคโนโลยี มาเป็นการพัฒนาได้เอง เราไม่ได้ปฏิเสธความช่วยเหลือจากต่างประเทศที่จะทำให้บางจุดเกิดเร็วขึ้น แต่มีข้อแม้ว่าหากเราจะรับความช่วยเหลือจากใครจะต้องเป็นความช่วยเหลือที่ทำให้เราเข้มแข็งขึ้น และอยากให้คนไทยเชื่อว่า เราสามารถเป็นชาติวิทยาศาสตร์ได้ อย่างเช่น การสร้างยานอวกาศ ที่อยากให้ทุกคนรอดูความสำเร็จในอีกไม่เกิน 5 ปีข้างหน้า ผมมองว่าประเทศไทยมีการเจริญเติบโตเยอะมาก และค่อนข้างชัดเจนว่าความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยนับวันจะสูงขึ้น ทั้งความสามารถด้านยา เครื่องมือการแพทย์ ด้านการเกษตร การสร้างโรงงานต้นแบบ รวมถึงการสร้างศูนย์วิจัยร่วมกับ 8 มหาวิทยาลัย คนไทยอาจไม่ใช่คนที่เก่งมากแต่เป็นคนที่ใครๆ ก็อยากทำงานด้วย”
5 ซีอีโอชั้นนำของประเทศ “มั่นใจ”
การวิจัยและนวัตกรรมจะเป็นคำตอบสุดท้ายของทุกความท้าทายในภาคอุตสาหกรรม
ทั้งนี้ภายในงาน ได้มีการเสวนาจุดประกายเศรษฐกิจในหัวข้อ “ The CEO views: Thailand Competitiveness, Achievement through Research and Innovation” เพื่อนำเสนอมุมมองและวิสัยทัศน์ของ ผู้นำองค์กรชั้นนำของประเทศในการขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรมไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้กับประเทศ และการปรับตัวให้พร้อมรับกับสถานการณ์ของโลกปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยผู้เข้าร่วมเสวนา ประกอบด้วย นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกิตติมศักดิ์ กลุ่มมิตรผล นายสุรชา อุดมศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่สายงานนวัตกรรม บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และนายอราคิน รักษ์จิตตาโภค หัวหน้าทีมขับเคลื่อนนวัตกรรม AIS NEXT บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด(มหาชน) โดยมี ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน เป็นผู้ดำเนินการเสวนา
นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกิตติมศักดิ์ กลุ่มมิตรผล กล่าวถึงระบบนิเวศนวัตกรรมว่า ต้องเป็นนโยบายแห่งชาติ โดยระบบนิเวศจะต้องเป็นการทำงานร่วมมือกันแบบไม่มีเงื่อนไข ไร้ขอบเขต ไม่มีข้อจำกัดและต้องอยากที่จะช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เกิดความเชื่อมโยง และที่สำคัญต้องมีความมุ่งมั่นที่จะทำให้เกิดความสำเร็จ การสร้างระบบนิเวศจึงสำคัญมากโดยเฉพาะเรื่องงานวิจัยที่ต้องมองตลาดเป็นหลัก และเมื่อนักวิจัยทำสำเร็จแล้วไม่จำเป็นต้องรอเอกชนเข้ามาแต่ควรจะมีเวทีหรือแพลตฟอร์มให้ผู้วิจัยและผู้ใช้งานวิจัยได้มีพบกัน
ทั้งนี้กลุ่มมิตรผลได้มีการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2540 และมีการวิจัยและพัฒนาที่เพิ่มมากขึ้นทุกปี โดยมีเป้าหมายคือ 1% รายได้ ซึ่งเริ่มวิจัยตั้งแต่พันธุ์อ้อยไปจนถึงการนำไบโอเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์และของเหลือในกระบวนการผลิต มีการขาย CO2 หรือคาร์บอนเครดิต และปัจจุบันกำลังดูเรื่องพลังงานชีวภาพสำหรับอากาศยาน ซึ่งจำเป็นต้องใช้การศึกษาวิจัยอีกมาก
ด้านนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงของโลกภายนอกทั้งเรื่องดิจิทัลทรานสฟอร์เมชั่น สงครามเทคโนโลยี ภูมิรัฐศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่กำลังเกิดขึ้นและเป็นความท้าทายของภาคอุตสาหกรรมระดับโลกที่มาจากภายนอกประเทศ ส่วนความท้าทายที่มาจากภายในประเทศเองคือ การเข้าสู่สังคมสูงวัย และการที่ประเทศไทยอยู่ในกับดักรายได้ปานกลางมาเป็นเวลานาน ซึ่งตัวเลขปี 2565 เป็นปีแรกที่อัตราการเกิดต่ำกว่าอัตราผู้เสียชีวิต เรียกได้ว่าประเทศไทยย่างเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ ซึ่งเป็นความท้าทาย เพราะสิ่งนี้ทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศกำลังลดลง ประกอบกับในปี 2565 ไอเอ็มดีได้จัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยลดลง 5 อันดับ จากอันดับที่ 28 ( ปี2564 ) เป็นอันดับที่ 33 ( ปี 2565 ) และนี่คือสิ่งที่ได้ชี้ชัดว่าขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยควรที่จะรีบพัฒนา ซึ่งต้องชื่นชมกระทรวงอว.ที่ได้มีการพัฒนาและทลายกำแพงที่เคยขวางกั้นระหว่างภาครัฐและเอกชน ทำให้เกิดการทำงานร่วมกัน
“วันนี้เรามีโจทย์จากภาคอุตสาหกรรมที่ชัดเจน โดยมุ่งไปที่อุตสาหกรรมใหม่ คือ เอสเคิร์ฟใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เศรษฐกิจบีซีจี ซึ่งมีต้นแบบการนำไบโอเทคโนโลยีไปปรับใช้กับอุตสาหกรรมต่าง ๆ และสุดท้ายคือ เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ที่ภาคอุตสาหกรรมมีโจทย์ชัดเจนคือเรื่องความยั่งยืน พลังงานสีเขียว และพลังงานสะอาด ซึ่งภาคอุตสาหกรรมพร้อมที่จะทำงานกับนักวิจัย ขณะที่เอสเอ็มอี ที่ต้องการพัฒนาไปสู่การเป็นสมาร์ทเอสเอ็มอี นั้นจะต้อง Go Digital , Go Innovation และ Go Global”
ขณะที่นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าบริษัททำธุรกิจนี้มาเกือบ 50 ปี มีการแข่งขันในตลาดโลกทำให้ต้องพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันอยู่ตลอดเวลาต้องมีการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ และเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต โดยบริษัทตัดสินใจลงทุนด้านการวิจัยและนวัตกรรมเมื่อปี 2557 ปัจจุบันมีนักวิจัยกว่า 100 คนและมีแพลตฟอร์มให้นักวิจัยร่วมมือกันในการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับทุกภาคส่วน ซึ่งความท้าทายของอุตสาหกรรมนี้ ก็คือผลกระทบจากการเกิดสงครามที่ทำให้ต้นทุนการผลิตต่าง ๆ สูงขึ้น ซึ่งจะต้องดูว่าจะเอานวัตกรรมเข้ามาช่วยได้อย่างไร
“สำหรับเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความยั่งยืน มองว่าเป็นเรื่องของการลดพลังงานและลดค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี อยากให้ภาครัฐและสถาบันการศึกษาเข้าใจว่า วันนี้เราต้องมองถึงการไปแข่งขันในตลาดโลก เราจะช่วยเอกชนให้ออกไปต่อสู้กับอุตสาหกรรมอื่น ๆ ทั่วโลกได้อย่างไร ด้วยงบประมาณประเทศที่มีจำกัด ดังนั้นต้องจัดลำดับความสำคัญว่ายุทธศาสตร์ประเทศไทยจะไปทางไหน เพื่อให้สามารถใช้งบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภาครัฐควรจะต้องเข้าใจบริบทของโลกและเข้าใจบทบาทของตัวเองว่าไม่ได้เป็นผู้กำกับกฎเกณฑ์ แต่ควรเป็นผู้สนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานและควรปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของภาครัฐเองด้วยทั้งด้านความรวดเร็วและความต่อเนื่อง”
ขณะที่นายสุรชา อุดมศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่สายงานนวัตกรรม บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือเอสซีจี กล่าวว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาจะเห็นความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนของการทำนวัตกรรมคือจากเดิมบริษัทจะทำนวัตกรรมเพื่อใช้เองหรือตอบโจทย์สินค้า แต่ปัจจุบันสินค้าทุกอย่างในอนาคตต้องตอบโจทย์ใน 2 เรื่องคือ Low Waste และ Low Carbon ซึ่งเอสซีจีบุกเบิกเรื่องของเศรษฐกิจหมุนเวียนและพยายามทำอย่างเต็มที่ มีการเปลี่ยนวัตถุดิบให้เป็น Low Carbon มากที่สุด จากฟอสซิลให้เป็นวัสดุชีวภาพ และที่ถือว่าเป็น นิวฟรอนเทียร์ สำหรับเอสซีจีก็คือการเอาคาร์บอนไดออกไซด์มาใช้ ซึ่งในอนาคตสิ่งที่เราผลิตออกไปอาจจะเป็นสิ่งที่ GREEN ที่สุด
นายอราคิน รักษ์จิตตาโภค หัวหน้าทีมขับเคลื่อนนวัตกรรม AIS NEXT บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด(มหาชน) หรือเอไอเอส กล่าวว่า เอไอเอสก็โดนดิสรัปเช่นเดียวกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ จึงจำเป็นที่จะต้องมีพาร์ทเนอร์มาช่วย มองว่าปัจจุบันทุกบริษัทจำเป็นต้องมีการวิเคราะห์แนวโน้มในอนาคต และเมื่อเห็นเทรนด์ที่จะทำกับธุรกิจของตนเองแล้ว บางเทคโนโลยีอาจจะสร้างเองหรือถ้าต้องการอย่างรวดเร็วก็คือการซื้อมาใช้ แต่ท้ายที่สุดแล้วก็คือ อย่าทำเองคนเดียวทั้งหมด ให้ใช้ความเป็นพาร์ทเนอร์ชิฟกับภาครัฐและภาคเอกชนให้มากที่สุด
สำหรับการจัดงาน “ บพข. สร้างสรรค์เศรษฐกิจไทย เชื่อมโลกด้วยวิจัยและนวัตกรรม ประจำปี 2566 หรือ PMUC Research for Thailand’s Competitiveness 2023” บพข. จัดขึ้นระหว่างวันที่ 26-26 เมษายน 2566 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อนำเสนอผลงานวิจัยเด่น จาก บพข. สำหรับผู้ประกอบการหรือนักลงทุน ที่มองหางานวิจัยพร้อมใช้ ได้มีโอกาสพบปะกับนักวิจัยเจ้าของผลงานที่พร้อมก้าวเดินและร่วมผลักดันให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่ใช่สำหรับผู้ใช้ในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม โดยกิจกรรมที่น่าสนใจนอกจากการเสวนาวิชาการในหัวข้อต่าง ๆ การนำเสนอผลงานวิจัยเทคโนโลยีขั้นสูง หรือ Research Pitching กิจกรรม Hackathon ที่เปิดโอกาสให้นักวิจัยและผู้ประกอบการได้รับการอบรมเชิงปฏิบัติการและเขียนโครงการขอรับทุนวิจัย ฯ แล้วยังมีการนำเสนอนิทรรศการผลงานวิจัยไทย ที่ บพข. ให้การสนับสนุนการทำงานร่วมกันระหว่างนักวิจัยกับผู้ประกอบการ ใน 8 กลุ่มอุตสาหกรรม รวมถึงตัวอย่างผลงานวิจัยที่ได้รับการผลักดันจนสามารถออกสู่ตลาดได้สำเร็จอีกด้วย
ความคิดเห็น