วช. - สกสว. - อว. หนุนงานวิจัยรับมือภัยธรณีพิบัติ ลดความเสี่ยง ลดสูญเสีย

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สนับสนุนทุนวิจัยโครงการการสร้างแบบจำลองระบบธรณีแปรสัณฐานของประเทศไทย เพื่อประเมินสภาวะความเค้นของธรณีภาคและความเสี่ยงแผ่นดินไหว ภายใต้ชุดโครงการลดภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวในประเทศไทย และโครงการการศึกษาแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวของประเทศไทย และการกำหนดตำแหน่งและประเมินผลกระทบของรอยเลื่อนที่ซ่อนตัวในเขตเมืองจากการตรวจวัดแผ่นดินไหว 
รองศาสตราจารย์ ดร.ภาสกร ปนานนท์ นักวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า แผ่นดินไหวจังหวัดแพร่เกิดในบริเวณที่มีกลุ่มรอยเลื่อนมีพลังเถินพาดผ่าน ซึ่งเคยเกิดแผ่นดินไหวมาแล้วหลายครั้ง เช่น แผ่นดินไหวขนาด 5.0 ที่อำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ ในปี 2538 และแผ่นดินไหวขนาด 2-3 ในช่วงปี 2560-2562 ที่อำเภอสอง จังหวัดแพร่ ห่างจากแผ่นดินไหวปัจจุบันไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 70 กิโลเมตร ส่วนแผ่นดินไหวที่จังหวัดเชียงใหม่เกิดในบริเวณที่มีกลุ่มรอยเลื่อนมีแม่ทาพาดผ่าน ซึ่งมีแผ่นดินไหวมาโดยตลอดโดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ แผ่นดินไหวครั้งสำคัญมีขนาด 5.1 ที่อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่เมื่อปี 2549 สร้างความเสียหายเป็นบริเวณกว้าง
ศาสตราจารย์ ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย แห่งสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย กล่าว่า ฝั่งตะวันตกของประเทศไทยตั้งแต่จังหวัดแม่ฮ่องสอนลงมามีรอยเลื่อนที่มีพลังมาก แม้จะสะสมพลังงานช้าแต่มีศักยภาพทำให้สามารถทำให้เกิดแผ่นดินไหวได้สูงถึง 7 ริกเตอร์ คณะวิจัยจึงได้นำข้อมูลมาแปลงเป็นแผนที่เสี่ยงภัยเพื่อหามาตรการรองรับที่เหมาะสม เช่น ออกแบบอาคารให้ต้านทานแผ่นดินไหว จำกัดพื้นที่ควบคุม 10 จังหวัดตั้งแต่อาคาร 3 ชั้นขึ้นไป บังคับใช้อาคารสาธารณะ อาคารสำคัญ อาคารเก็บวัสดุอันตราย และอาคารทั่วไปที่สูงเกิน 15 เมตร หลังเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ขนาด 6.3 ที่จังหวัดเชียงรายเมื่อปี 2557 เป็นเหตุให้อาคารถล่มกว่าหมื่นหลังทั้งบ้าน วัด โรงเรียน คณะวิจัยได้เข้าไปเสริมกำลังด้วยโครงสร้างเหล็กให้โรงเรียนนำร่อง 7 โรงเรียน ใช้งบประมาณ 1 ใน 7 ของการสร้างใหม่ ภายใต้ความร่วมมือของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ของไทย รวมทั้งมหาวิทยาลัยนานยาง ประเทศสิงคโปร์ และหน่วยงานของไต้หวัน
ทางด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.ธีรพันธ์ อรธรรมรัตน์ นักวิจัยจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า แผ่นดินไหวที่จังหวัดเชียงใหม่มีระยะทางห่างจากอาคารโรงพยาบาลในเขตอำเภอเมืองประมาณ 15 กิโลเมตรจากการวิเคราะห์สัญญาณการโยกตัวของอาคารที่ตรวจวัดได้จากอุปกรณ์ราคาประหยัด ซึ่งคณะวิจัยได้ติดตั้งไว้ภายในอาคารโรงพยาบาล พบว่าค่าความเร่งที่ตรวจวัดได้บ่งชี้ว่าอาคารมีการสั่นสะเทือนที่มีความรุนแรงพอที่ประชาชนที่อยู่ในอาคารอาจจะรู้สึกการสั่นสะเทือนได้ แต่ยังไม่ถึงระดับที่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่อาคารได้ ทั้งนี้คณะทีมวิจัยพยายามพัฒนาระบบที่สามารถประเมินความปลอดภัยของอาคารสำหรับการให้ข้อมูลผู้ใช้งานอาคารเกิดความมั่นใจ และสามารถใช้งานอาคารได้ทันทีหลังเกิดเหตุการณ์ภัยแผ่นดินไหว 
สำหรับชุดโครงการลดภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวในประเทศไทย และโครงการการศึกษาแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวของประเทศไทย และการกำหนดตำแหน่งและประเมินผลกระทบของรอยเลื่อนที่ซ่อนตัวในเขตเมืองจากการตรวจวัดแผ่นดินไหว มี ศาสตราจารย์ ดร.นคร ภู่วโรดม แห่งคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นหัวหน้าโครงการ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก วช. ภายใต้กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เทคนิคนครสวรรค์รับการประเมินเพื่อรับรางวัลสถานศึกษาอาชีวศึกษาพระราชทาน ประจำปีการศึกษา 2666

วช. มุ่งเป้าใช้งานวิจัยและนวัตกรรม รุกแผนลดอุบัติเหตุทางถนน

สถาบันเทคโนโลยีแห่งสุวรรณภูมิและสถาบันในเครือสารสาสน์ ฉลองครบรอบ 60 ปี จัดงานประชุมวิชาการระดับชาติครั้งที่ 2 พร้อมกิจกรรมจิตอาสาทั่วประเทศ