5 องค์กรชั้นนำร่วมลดขยะอย่างยั่งยืน ดัน “กรีนพลาส พาเลท” ไม้เทียมจากพลาสติกใช้แล้วเพื่องานขนส่งอุตสาหกรรม

กรุงเทพฯ – 26 ตุลาคม 2564:  5 องค์กรชั้นนำได้แก่ กลุ่มบริษั้ท ดาว ประเทศไทย (Dow) กลุ่มบริษัท ยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย บริษัท ทีพีบีไอ จำกัด (มหาชน) บริษัท เอ็ม.บี.เจ. เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ร่วมกันประกาศความสำเร็จในการพัฒนาพาเลทสำหรับคลังสินค้าและงานขนส่งอุตสาหกรรมซึ่งผลิตจากไม้เทียมผสมบรรจุภัณฑ์พลาสติกใช้แล้ว เช่น ถุงเติมสบู่เหลว ถุงเติมน้ำยาปรับผ้านุ่ม แชมพูชนิดซอง ฯลฯ โดยได้เริ่มใช้งานจริงในโรงงานและคลังสินค้าของ Dow แล้วในขณะนี้ ซึ่งช่วยลดขยะได้กว่า 104 ตันต่อปีในระยะแรก และยังมีแผนจะช่วยส่งเสริมให้ไปสู่เชิงพาณิชย์ในบริษัทอื่นๆ ต่อไป



“กรีนพลาส พาเลท” ผลิตจากไม้เทียมที่มีส่วนผสมระหว่างผงไม้กับพลาสติกใช้แล้วเพื่อทดแทนไม้จริง ในสัดส่วน 10-45% โดยใช้ประโยชน์จากพลาสติกที่รีไซเคิลยาก ได้แก่ ถุงบรรจุภัณฑ์ที่ประกอบด้วยพลาสติกหลายชั้น (multi-layer) เช่น ถุงน้ำยาปรับผ้านุ่ม ถุงผงซักฟอก แชมพู-ครีมนวดผมชนิดซอง รวมทั้งขวดบรรจุภัณฑ์ชนิดที่มีสีหรือขุ่นที่รีไซเคิลได้แต่มีร้านที่รับซื้อไม่มากนัก เช่น ขวดแชมพู ขวดน้ำยาล้างจาน และยังมีแผนที่จะขยายการทดสอบไปสู่พลาติกชนิดอื่นๆ เพิ่มเติมในระยะถัดไป พร้อมกันนี้ยังได้ร่วมกันขยายการมีส่วนร่วมไปยังผู้บริโภคเพื่อรวบรวมบรรจุภัณฑ์พลาสติกเป้าหมายจากครัวเรือนมาผลิต “กรีนพลาส พาเลท” เพื่อลดขยะอย่างยั่งยืนตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างมีส่วนร่วม


พาเลทไม้เทียมเป็นหนึ่งในไม่กี่ผลิตภัณฑ์ในปัจจุบันที่สามารถดึงขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ได้ในปริมาณมาก เนื่องจากเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการจัดเก็บและขนส่งสินค้าในเกือบทุกอุตสาหกรรม ยิ่งไปกว่านั้นไม้เทียมที่ได้จากโครงการสามารถต่อยอดนำไปประยุกต์ใช้งานด้านอื่นๆ เช่น เฟอร์นิเจอร์ รั้ว สนามเด็กเล่น ได้ในอนาคต โดยภายในปีหน้า Dow วางแผนจะใช้แผ่นไม้เทียมจากพลาสติกใช้แล้วนี้ประมาณ 147,000 แผ่นต่อปี นำมาประกอบเป็นพาเลทเกือบ 59,000 ตัว ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ได้ประมาณ 108 ตันต่อปี เทียบเท่าปลูกต้นไม้ 333 ไร่ต่อปี 


แผ่นไม้เทียมที่ใช้ผลิต “กรีนพลาส พาเลท” ดังกล่าวมีคุณสมบัติ แข็งแรง ยืดหยุ่น สามารถเจาะ หรือตอกตะปู เพื่อยึดติดได้อย่างมีประสิทธิภาพ รองรับน้ำหนักได้เท่าพาเลทที่ทำจากไม้จริง ตอบโจทย์นโยบายสิ่งแวดล้อมทั้งระดับโลก เช่น เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (UN’s SDGs)  ระดับประเทศ เช่น นโยบาย BCG (Bio-Circular-Green) Economy ของรัฐบาล และ ส่งเสริมเป้าหมายด้านความยั่งยืนในระดับองค์กรของบริษัทผู้ร่วมโครงการ และผู้ที่นำ “กรีนพลาส พาเลท” ไปใช้งาน


คุณฉัตรชัย เลื่อนผลเจริญชัย ประธานบริหาร กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย กล่าวว่า “กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย มุ่งมั่นนำความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ของเราจากการดำเนินโครงการด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนต่างๆ เข้ามาช่วยพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อสร้างตลาดให้กับพลาสติกที่ใช้แล้วซึ่งให้มีมูลค่าและมีการเก็บเพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์ สอดคล้องกับเป้าการทำงานด้านความยั่งยืนของ Dow ที่ตั้งเป้าว่า ภายในปี พ.ศ. 2573 เราจะช่วยทำให้ขยะพลาสติกจำนวน 1 ล้านตันถูกเก็บกลับมาใช้ใหม่หรือรีไซเคิลผ่านการดำเนินการของบริษัทฯ และความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ”


คุณชู ลิม รองประธานบริหาร ฝ่ายซัพพลายเชน กลุ่มบริษัท ยูนิลีเวอร์ ประเทศไทยและภาคพื้นอาเซียน กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ บริษัท ยูนิลีเวอร์ มีความยินดีที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมขับเคลื่อนความสำเร็จด้านนวัตกรรม โครงการ “Greenplas Pallet for Green Industry”  ที่จะเปลี่ยนถุงพลาสติกหลายชั้นที่มีมูลค่าต่ำและเป็นพลาสติกที่มักมีการรั่วไหลสู่สิ่งแวดล้อม ให้สามารถนำกลับมาเป็นวัตถุดิบหรือรีไซเคิลที่จะนำไปใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า ซึ่งสอดคล้องกับความมุ่งมั่นของบริษัทในการขับเคลื่อนนโยบายในการเรียกเก็บบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้แล้วนำกลับมาเข้าสู่ระบบรีไซเคิลให้ได้มากที่สุด โดยบริษัทมีเป้าหมายที่จะเรียกเก็บบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วให้มีปริมาณที่มากกว่ายอดขายที่จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ภายในปี 2568 ให้เป็นผลสำเร็จผ่านความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่จะทำให้สามารถนำขยะพลาสติกที่ถูกทิ้งหลังการบริโภคเข้าสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนด้วยเทคโนโลยีที่เป็นนวัตกรรมใหม่นี้อย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น” 


คุณสมศักดิ์ บริสุทธนะกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทีพีบีไอ จำกัด (มหาชน) กล่าววว่า เรามีความภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการ “Greenplas Pallet for Green Industry” ซึ่งเป็นโครงการร่วมกัน ระหว่าง DOW , ยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย , บ.เอ็ม บี เจ. , มหาวิทยาลัยลาดกระบัง และบริษัท ทีพีบีไอ ที่ร่วมกันวิจัยและพัฒนาการผลิตภัณฑ์พาเลทไม้เทียมที่สามารถนำมาสู่กระบวนการ Upcycling จากพลาสติกที่ใช้แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรจุภัณฑ์ชนิดซองสำหรับสินค้าอุปโภคและบริโภค เป็นขยะพลาสติกที่ยากในการรีไซเคิล ในความร่วมมือครั้งนี้จะนำไปสู่การบริหารจัดการขยะพลาสติกได้อย่างครบวงจรตั้งแต่การจัดหาพลาสติกที่ใช้แล้วจากผู้บริโภค การแปรรูปพลาสติกที่ใช้มาเป็น ผลิตภัณฑ์พาเลทไม้เทียม ที่ผ่านการทดสอบพบว่ามีความแข็งแรง ทนทาน และสามารถใช้งานได้เทียบเท่าไม้จริง ดังนั้น โครงการนี้จึงถือเป็นหนึ่งในโครงการต้นแบบที่นำเอาหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy มาใช้ได้อย่างแท้จริง 


คุณบำรุง เจษฎาพงศ์ไพบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็ม.บี.เจ.เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นก้าวสำคัญที่ประสบความสำเร็จด้วยดี ในการดำเนินโครงการ “Greenplas Pallet for Green Industry” เนื่องจากวัตถุดิบเป็นขยะพลาสติกมัลติเลเยอร์ยากต่อการกำจัด ซึ่งถือว่ามีความท้าทายอย่างมากในการวิจัยและพัฒนาการนำขยะพลาสติกใช้แล้ว นำกลับมารีไซเคิลผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ไม้เทียมที่มีคุณสมบัติที่ดีและมีความแข็งแรงทนทาน   สามารถนำมาใช้เป็นผลิตภัณฑ์พาเลทสำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ ได้อย่างต่อเนื่อง  ซึ่งบริษัทเชื่อว่าผลิตภัณฑ์ Greenplas Pallet นอกจากแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืนแล้ว ยังสามารถสร้างประโยชน์ในด้านพัฒนาผลิตภัณฑ์ชนิดอื่นๆ ที่สร้างมูลค่าเพิ่มได้ นับเป็นการสร้างระบบเศรษฐกิจใหม่ ที่มีการนำขยะไปใช้ต่อยอดเป็นนวัตกรรมที่มีประโยชน์ต่อสังคมและส่วนรวมได้


ศาสตรตารย์ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี  สถาบันเทคโนโลยี พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า จากการพัฒนานวัตกรรม โครงการ “Greenplas Pallet for Green Industry” ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง (สจล หรือ KMITL) เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์จนประสบผลสำเร็จในการนำไปใช้เชิงพาณิชย์ได้ ซึ่งเป็นไปตามแนวทางของ สถาบันฯที่มุ่งมั่นที่ในการสร้างสรรนวัตกรรมระดับโลก ตามวิสัยทัศน์ “The World Master of Innovation” แพลตฟอร์มสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืน 5 ด้าน  ประกอบด้วย ด้านที่ 1: Disruptive Curriculums “สร้างหลักสูตรทันสมัยและทันต่อการเปลี่ยนแปลง”เพื่อตอบโจทย์ Thailand 4.0 ด้านที่ 2: Disruptive Research and Innovation “สร้างงานวิจัยและนวัตกรรมที่ทันต่อการเปลี่ยนแปลง” พัฒนางานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้ประเทศส่งเสริมนวัตกรรมเชิงพาณิชย์

      ด้านที่ 3: Creative Ecosystem “สร้างระบบนิเวศแห่งการสร้างสรรค์” สร้างระบบนิเวศที่เอื้อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ทั้งเชิงกายภาพและเชิงดิจิตอล ด้านที่ 4: Talents Empowerment “เพิ่มขีดความสามารถนักศึกษาและบุคลากร” สร้างระบบพัฒนาเพื่อเติมเต็มศักยภาพให้บุคลากรและนักศึกษา และ ด้านที่ 5: Sustainable Development “พัฒนาองค์กรต่อเนื่องมุ่งสู่ความยั่งยืน” สร้างระบบนิเวศแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคต่อไปของโลก 

อย่างไรก็ตามในระยะแรกเป็นการนำผลิตภัณฑ์ “กรีนพลาส พาเลท”  ที่ได้ไปใช้งานในโรงงานและคลังสินค้าของ Dow  และในระยะต่อไปจะมีการนำผลิตภัณฑ์เพื่อการขยายตลาดไปยังกลุ่มธุรกิจอื่นๆ โดยทั้ง 5 องค์กร จะมุ่งมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์ และรณรงค์ให้ผู้บริโภคได้มีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้นในการคัดแยกถุงบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วเพื่อเป็นวัตถุดิบ ซึ่งจะช่วยให้พลาสติกใช้แล้วถูกนำไปใช้ประโยชน์ในวงกว้างอันจะส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยมากยิ่งขึ้นต่อไป

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เทคนิคนครสวรรค์รับการประเมินเพื่อรับรางวัลสถานศึกษาอาชีวศึกษาพระราชทาน ประจำปีการศึกษา 2666

วช. มุ่งเป้าใช้งานวิจัยและนวัตกรรม รุกแผนลดอุบัติเหตุทางถนน

สถาบันเทคโนโลยีแห่งสุวรรณภูมิและสถาบันในเครือสารสาสน์ ฉลองครบรอบ 60 ปี จัดงานประชุมวิชาการระดับชาติครั้งที่ 2 พร้อมกิจกรรมจิตอาสาทั่วประเทศ